วันเสาร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

นศ.โท ธรรมศาสตร์ สวนกลับสสร.รัฐธรรมนูญใหม่ยึดหลัก 40 วอนคืนอำนาจสู่มือประชาชน ลั่น สว.สรรหาไม่เหมาะสม แนะ รัฐธรรมนูญโดยประชาชนเพื่อประชาชน


หลังจากที่มีการประชุม สสร. เพื่อวางแนวทางการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยเนื้อหาว่าด้วย 3 กรอบหลักคือ กรอบสิทธิและเสรีภาพ สถาบันการเมือง และ องค์กรตรวจสอบอิสระและศาล ซึ่งมีนายนรนิติ เศรษฐบุตร ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ เป็นประธานในที่ประชุม ในส่วนของการวางกรอบในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ทางด้าน นายชวนะ เกียรติชวนะเสวี นักศึกษาปริญญาโท ธรรมศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ สาขาการเมืองการปกครอง ให้สัมภาษณ์หลังเข้าร่วมรับฟังการอภิปราย กรอบรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ปี 50 ว่าหลังเข้าร่วมรับฟังการอภิปรายยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 50 โดยความคิดเห็นในส่วนตัวแล้ว ยังมีความเห็นว่า รัฐธรรมนูญปี 40 เป็นรัฐธรรมนูญที่เหมาะสมที่สุดและเป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชนโดยแท้จริง ซึ่งทุกขั้นตอนของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งหากการทำประชาพิจารณ์ไม่ผ่านความเห็นชอบของประชาชน ก็ควรที่จะกลับมาใช้รัฐธรรมนูญปี 40 และแก้ไขในบางมาตราเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์นั้นได้
ในส่วนสำคัญเห็นว่า รัฐฯมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอธิบายทุกขั้นตอนให้กับประชาชนรับทราบ รับรู้ข้อมูลทุกขั้นตอน ไม่ใช้ให้ประชาชนแค่ร่วมร่างรัฐธรรมนูญนั้น แต่ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ในทุกขั้นตอน ไม่ใช่แค่ร่วมอย่างที่ผ่านมา และประชาชนคือผู้ตั้งโจทให้กับรัฐฯหาคำตอบ ไม่ใช้รัฐเป็นผู้ตั้งโจทแล้วโยนให้ให้ประชาชนหาคำตอบเอาเอง ซึ่งก็ไม่ทราบว่าคำตอบนั้นจะออกมาในทางใด รัฐฯมีอำนาจเต็มที่ในการวางกรอบบริหารประเทศ ซึ่งที่ผ่านมารัฐไม่ค่อยสนใจในเสียงของประชาชน ประชาชนไม่ค่อยมีส่วนร่วม เพราะประชาชนไม่เข้าใจบทบาทและหน้าที่ ว่าการเลือกตั้งมีความสำคัญอย่างไร มีผลกระทบต่อบ้านเมืองมากน้อยเพียงใดหากไม่ไปใช่สิทธิของตนเอง สส.มีหน้าที่อะไร สว.มีความสำคัญอย่างไร นายกฯมีบทบาทหน้าที่ตรงไหนบ้าง สิ่งสำคัญต่างๆเหล่านี้คือหน้าที่ของรัฐฯ ที่จะต้องเติมเต็มและสร้างแนวทางให้ประชาชนเกิดการเรียนรู้ อธิบายเหตุผลหลักการทุกขั้นทุกตอน ให้ประชาชนตระหนักในบทบาทและหน้าที่ของตัวเอง ปลูกจิตสำนึกในการเป็นบุคลากรของชาติ ในการทำหน้าที่เป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย แกนหลักสำคัญของประชาธิปไตยอยู่ที่ประชาชน หากประชาชนเข้าใจบทบาทและหน้าที่ของตัวเอง หากประชาชนได้ใช้สิทธิของตนเองได้อย่างครบถ้วน เชื่อมั่นอย่างยิ่งว่าประชาธิปไตยในบ้านเมืองของเราจะเดินหน้าต่อไป
ในส่วนของกรอบทั้ง 3 กรอบหลักนั้นมองว่าในส่วนนี้เป็นแค่ปัจจัยย่อยๆในระบอบประชาธิปไตยมากกว่า การที่รัฐฯจะกำหนดรัฐธรรมนูญออกมาอย่างไรไม่ใช่ส่วนสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นจะลดจำนวน ส.ส.หรือการแต่งตั้ง สว. ไม่ใช่ปัจจัยหลัก หลักการสำคัญคือรัฐฯจะทำอย่างไรให้ประชาชนเข้าใจในรัฐธรรมนูญ เข้าใจในบทบาทหน้าที่ของตัวเอง เข้าใจหลักการในระบอบประชาธิปไตย และไปใช้สิทธิในการเลือกตั้ง และให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยบริสุทธิ์ยุติธรรมเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ประชาชนตระหนักในความสำคัญในการใช้สิทธิของตนเองชี้นำอนาคตของชาติ ซึ่งนี้เป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งที่รัฐบาลจะต้องทำความเข้าใจและใส่ใจให้มากขึ้น เข้าใจประชาชนให้มากขึ้น โดยส่วนตัวเห็นว่า วันนี้ประชาธิปไตยกำลังถูกคุกคามกำลังถูกทำลาย จุดเริ่มต้นของประชาธิปไตยเมื่อปี 2475 เป็นมาอย่างไรเราคงต้องย้อนกลับไปดูและเรียนรู้กันใหม่อีกครั้ง เพราะประชาธิปไตยเกิดขึ้นเองตามแนวทางตามระบบ ในส่วนของการสรรหา สว. คิดว่า เปรียบเสมือนนักเรียนหรือเด็กทุกคนเรียนรู้ประชาธิปไตยตั้งแต่แรกเริ่มเข้าเรียน คือการเลือกหัวหน้าชั้นด้วยตนเอง ไม่ว่าจะเลือกคนดีหรือไหมนั้นไม่สำคัญ แต่ระบอบประชาธิปไตยเกิดขึ้นและกำลังพัฒนาไปด้วยตัวเอง ตามแนวทางที่ถูกต้อง เพราะวันนั้นอาจารย์เป็นผู้มอบอำนาจสู่นักเรียนให้เลือกหัวหน้าชั้นกันเอง ผลออกมาอย่างไรก็ย่อมเป็นที่ยอมรับ แต่วันนี้กลับกัน ครูประจำชั้นกลับเดินเข้าบอกว่า ที่เลือกหัวหน้าชั้นกันเองนั้นไม่ถูกต้องไม่ดี ต่อไปนี้ครูจะเป็นผู้กำหนดและเลือกหัวหน้าชั้นเอง แล้วต่อไปประชาธิปไตยในชั้นเรียนก็จะถูกทำลาย เพราะไม่ว่าใครจะเป็นหัวหน้าชั้น ครูก็คือผู้มีอำนาจสิทธิขาดอยู่ดี หัวหน้าชั้นก็จะไม่ให้ความสนใจเพื่อร่วมชั้น เด็กขาดความเชื่อมั่น อย่างนี้เป็นต้น แล้ววันนั้นที่ผ่านๆมา ไม่ว่าจะเป็น 14 ตุลา 17 พฤษภาทมิฬ เราเรียกร้องเพื่ออะไร การเสียเลือดเสียเนื้อของคนเดือนตุลาเพื่ออะไร ไม่ใช่ประชาธิปไตยหรอกหรือ แล้วเวลานี้เรากำลังถามหาประชาธิปไตยไม่ใช่หรือ เรากำลังจะพัฒนาไปข้างหน้าให้มากแค่ไหน ก็ยิ่งต้องย้อนกลับไปดูอดีตให้มากยิ่งขึ้นเท่านั้น เปรียบเหมือนกับการยิงธนูยิงดึงกลับมากเท่าไหร่ ก็จะยิงไปข้างหน้าได้ไกลมากยิ่งขึ้นเช่นกัน นั้นหมายความว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ประชาชนจะต้องมีบทบาทสำคัญและมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน ต้องทำประชาพิจารณ์เพื่อฟังเสียงประชาชน เพราะประชาชนคือผู้กำหนดทิศทางของรัฐธรรมนูญ ฉะนั้นหลักและใจความสำคัญคือประชาชนต้องเป็นผู้เลือก จึงเห็นได้ชัดเจนว่า สว.ต้องมาจากการเลือกตั้ง เพราะหาก สว.มาจากการสรรหา ประชาธิปไตยก็คงไม่เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์แน่นอน ในส่วนของจำนวน สส.หรือสว.จะเพิ่มหรือลด ขึ้นอยู่กับความเหมาะแต่ต้องถามประชาชนเช่นกัน
สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งคือ รัฐฯต้องผลักดันให้ประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลต่างๆได้ง่ายขึ้น ไม่ใช่แค่เพียงร่างหลักการไว้ แต่ไม่สามารถปฏิบัติได้จริง จะต้องเปิดช่องทางให้ประชาชนมีส่วนร่วมในทุกขั้นทุกตอน ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ประชาชนสามารถถอดถอนบุคคลนั้นๆทางการเมืองที่ประพฤติปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบได้ง่ายขึ้น ไม่ให้เป็นอย่างที่ผ่านมา เช่น 50,000 รายชื่อสามารถถอดถอนนายกฯได้ แต่ทำเข้าจริงไม่สามารถทำได้อย่างนี้เป็นต้น จำเป็นต้องมีองค์กรเข้ามาทำงานร่วมกับประชาชน ให้ความสำคัญกับประชาชนเป็นหลัก รัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงจะสมบูรณ์และเป็นที่ยอมรับ สสร.มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าใจบทบาทของตัวเอง และเข้าใจในบทบาทหน้าของประชาชน เคารพหลักการสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน และร่างรัฐธรรมนูญตามความเห็นชอบของคนส่วนรวม รัฐธรรมนูญไม่ได้ร่างขึ้นมาเพียงเพื่อใช้กับคนกลุ่มหนึ่งกลุ่ม และไม่ได้ร่างและบัญญัติให้คนกลุ่มใดได้รับผลประโยชน์ แต่รัฐธรรมนูญเป็นของเราทุกคน รัฐธรรมนูญโดยประชาชนเพื่อประชาชน นายชวนะกล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น