วันเสาร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

รัฐธรรมนูญ



                                                     นาย ชวนะ เกียรติชวนะเสวี น.บ.



แนวความคิด
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ในหลายต่อหลายครั้งได้ผ่านเหตุการณ์วิกฤติทางการเมืองทำลายลง ทุกครั้งในหลายยุคหลายสมัยที่ผ่านมา ประวัติศาสตร์ได้จารึกไว้ในทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มีทั้งการก่อจราจรในบ้านเมือง มีทั้งการก่อรัฐประหาร ทั้งในยุคของเผด็จการ ในในยุคสมัยที่ว่ากันว่าเป็นประชาธิปไตย เราได้เห็นการพัฒนาการของการเมืองไปในทิศทางที่ค่อยๆดีขึ้น รัฐธรรมนูญปี 40 เป็นบรรทัดฐานของรัฐธรรมนูญที่ว่ากันว่าดีที่สุดเท่าที่เคยมีการยกร่างขึ้นมา เพราะได้รวบรวมเอาแนวทางความคิดเห็นจากประชาชน ในทุกภาคส่วนมาไว้ได้อย่างครบถ้วนจึงไม่เคยคาดคิด กันอีกเลยว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะถูกทำลายเหมือนเช่นอดีตที่ผ่านมา แต่แล้วสิ่งที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้นอีกครั้งที่ยุคสมัยที่ว่ากันว่า ประชาธิปไตยไทยพัฒนาไปข้างหน้ามากแล้ว การก่อรัฐประหารจึงดูเสมือนว่าไม่น่าจะเกิดขึ้นในสมัยนี้ เมื่อเกิดขึ้นแล้ว รัฐธรรมนูญที่ว่ากันดีที่สุดก็เป็นอันถูกยกเลิกไป นำไปสู่การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ครั้งนี้มีนัยยะสำคัญ และมีข้อความคิดที่แตกต่างกันออกไปจากทุกๆครั้ง มีวิกฤติการเมืองที่รออยู่ การเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญจะเป็นทางออกของปัญหาหรือไม่ หรือการร่างรัฐธรรมนูญจะทำให้นักการเห็นช่องว่าง แล้วนำไปสู่การใช้อำนาจทางการแบบเบ็ดเสร็จและเผด็จการ นี้จึงข้อแม้สำคัญที่กำลังท้าทาย สสร.ในชุดที่ว่าการว่ามาจากระบบเผด็จการ รัฐธรรมนูญไม่ได้ถูกตราขึ้นเพื่อกลุ่มคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่รัฐธรรมนูญจะต้องถูกตราขึ้นให้กับคนไทยทั้งประเทศ

การเคลื่อนไหว
ผมเฝ้าติดตามสถานการณ์การเมือง มาโดยตลอดด้วยความสนใจ เพราะวิกฤติการเมืองปัจจุบันกำลังเป็นที่สนอกสนใจของหลาย และยังมีผลต่ออนาคตของประเทศ แนวทางสำคัญหรือช่องทางสำคัญในการที่จะมีส่วนร่วมกับการผลิกวิกฤติทางการเมืองในครั้งนี้ คือการแสดงออกถึงแนวทางสมานฉันท์ แสดงออกถึงความคิดเห็นที่ส่วนรวมมีความต้องการที่จะเห็นความเปลี่ยนแปลง ทางการตามแนวทางประชาธิปไตย ผมยอมรับว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีความพยายามอย่างยิ่ง ที่จะปิดช่องว่างที่จะไม่ให้นำไปสู่การยึดอำนาจแบบเบ็ดเสร็จ เหมือนกรณีที่นำไปสู่การก่อรัฐประหารในรัฐบาลชุดก่อน ผมได้ออกมาแสดงความคิดเห็นโดยยึดหลักการตามแนวทางประชาธิปไตย ผมใช้ความรู้ที่ได้จากการศึกษาตรง ได้จากแหล่งข่าวสารประกอบในการแสดงความคิดความเห็นออกมา ในหลายส่วนของขั้นตอนการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ยังถูกมองว่าไม่มีบรรทัดฐานเพียงพอ ในการนำความคิดเห็นของหลายส่วนจากภาคประชาชนบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องที่ยังไม่เป็นประชาธิปไตยเพียงพอ ยังตกเป็นประเด็นทางการเมืองที่อาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งในอนาคตก็เป็นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบรรจุให้สว.มาจากการสรรหา รวมกับการเลือกตั้ง ผมยังอยากที่จะเห็นพัฒนาการทางการเมืองเปิดโอกาสให้กับประชาชน เป็นผู้กำหนดทิศทางของอนาคตของประเทศ ประชาธิปไตยในประเทศที่พัฒนาแล้วประชาชนคือผู้กำหนดทิศทางทางการเมือง เช่นเดียวกันผมยังอยากจะเห็นการมีส่วนร่วมของประชาชน ในทุกขั้นทุกตอนของการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 50 นี้ และนำไปสู่การเลือกตั้งที่ได้รับการยอมรับ เพื่อเป็นแนวทางสมานฉันท์แก้วิกฤติการเมืองที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้

หนังสือพิมพ์ที่ลงบทความที่เกี่ยวข้อง
•  หนังสือพิมพ์เสียงใต้รายวัน ฉบับประจำวันจันทร์ ที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 พาดหัวข่าวหน้า1 นศ.โทธรรมศาสตร์สวนกลับ สสร. รธน.ใหม่ยึดหลักปี 40
•  หนังสือพิมพ์เสียงทักษิณ ฉบับประจำวันที่ 30 มีนาคม – 8 เมษายน พ.ศ. 2550 พาดหัวข่าวหน้า 1 รธน.40 ยังแจ๋ว วอนเร่งคืนอำนาจประชาชน
•  หนังสือพิมพ์อันดามันโพสต์ ฉบับประจำวันที่ 10-24 พฤษถาคม พ.ศ.2550 พาดหัวข่าวหน้า 1 นศ.โท ธรรมศาสตร์ สวนกลับ สสร. รัฐธรรมนูญใหม่ยึดหลักปี40 วอนคืนอำนาจสู่มือประชาชน ลั่น ส.ว.สรรหาไม่เหมาะสม แนะรัฐธรรมนูญ...โดยประชาชน...เพื่อประชาชน
•  หนังสือพิมพ์เสียงใต้รายวัน ฉบับประจำวันอาทิตย์ที่ 8 กุมภาพันธ์ 2550 "รองหอออกโรงหนุนปฏิรูปการเมือง"
•  www.phuket2phuket.com ลงบทความ "นศ.โท ธรรมศาสตร์ สวนกลับสสร. รธน.ใหม่ยึดหลัก 40"
•  www.andamanguide.com ลงบทความเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2550 "ชวนะชี้เลื่อนเลือกตั้งเร็วขึ้น"
•  www.cns.go.th ลงบทความเมื่อวันที่ 13 ก.ค. 2550 "เอกชนใต้ตอนบนหนุนเลือกตั้งเร็วขึ้น"

บทสรุป
อย่างที่ได้เกริ่นมาแต่ต้น ผมอยากที่จะเห็นการมีส่วนของประชาชนในทุกขั้นตอน และให้อำนาจสู่สุดอยู่ที่มือประชาชน ตามแนวทางประชาธิปไตย ผมเชื่อว่า อนาคตการเมืองไทยกำลังเดินหน้าไปอย่างช้า เราเฝ้ามองพัฒนาการทางเมือง เราเฝ้ามองวิวัฒนการของประชาธิปไตย ที่จะมีส่วนสำคัญกับการพัฒนาประเทศให้นานาชาติประเทศให้การยอม ในการเป็นประเทศที่ปกครองโดยระบอบประชาธิปไตย ในวันนี้ผมได้แสดงจุดยืนที่ชัดเจนว่าอยากที่จะเห็นการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรม ที่จะไปสู่การแก้วิกฤติบ้านเมือง ที่นำไปสู่ความสมาฉันท์ของคนไทยทั้งประเทศ วันนี้จึงถือว่าเป็นก้าวแรกของการก้าวเดินอีกครั้งหนึ่งของประชาธิปไตยในประเทศไทย และเป็นก้าวเดินสำคัญที่จะต้องเดินฝ่าอุปสรรคทางการเมือง เพื่อนำไปสู่อนาคตที่ดีกว่านี้ วันนี้ผมได้เห็นการแสดงออกของคณะ สสร.ว่ามีความมุ่งมั่นที่จะยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ทุกคนต่างตั้งความหวังกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไว้สูง และผมยังคิดว่าความเห็นส่วนใหญ่คงอยากให้เกิดการเลือกตั้งโดยเร็ว และไม่อยากเห็นการคว่ำ รธน.ฉบับนี้อย่างแน่นอน ผมยังอยากจะเห็นความสามัคคีของคนไทยทั้งชาติ ผมยังอยากจะเห็นความสมานฉันท์และไม่อยากเห็นการเรียกร้องผลประโยชน์ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะวันนี้ไม่มีผลประโยชน์ของใคร มีเพียงผลประโยชน์ของชาติบ้านเมืองเท่านั้น

รองหอฯภูเก็ตออกโรงหนุนปฏิรูปการเมือง พร้อมแนะ คปค.รักษาสัญญา อย่าสืบทอดทายาท เร่งคืนอำนาจสู่ประชาชน หวั่นกระทบเศรษฐกิจระยะยาว


นายชวนะ เกียรติชวนะเสวี รองประธานหอการค้า จ.ภูเก็ต กล่าวถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ หลังการปฏิรูปการปกครอง จากคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ว่าจากการเฝ้าติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจของโลกในเวลา จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ตัวเลขเงินเฟ้อมีการปรับลดลง ในช่วงเดือน ที่ผ่านมา เนื่องจากราคาน้ำมันมีการปรับตัวลง เพราะความต้องการน้ำมันลดลง และปริมาณน้ำมันในตลาดโลก มีการแรงกดดันน้อยลง เนื่องจากเหตุการณ์ในตะวันออกกลางสงบลง รวมทั้งเหตุการณ์ในอิหร่านก็บรรเทาลง ทำให้ปริมาณน้ำมันในตลาดโลกที่มีการคาดการณ์ ว่า จะขาดแคลนก็ไม่ขาดแคลนแล้ว นอกจากนี้ แนวโน้มเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกามีการชะลอตัวลงทำให้ความต้องการใช้น้ำมันก็ลดลง ก็ทำให้ราคาน้ำมันมีการปรับตัวลงอย่างต่อเนื่องในช่วงเดือนที่ผ่านมา ซึ่งก็จะมีผลตามมาทำให้เงินเฟ้อมีการปรับตัวลดลง โดยขณะนี้ อยู่ระหว่างประมาณร้อยละ 3.8 ทำให้เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกาจึงมีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยให้คงเดิมที่ร้อยละ 5.25 เนื่องจากความกดดันเรื่องเงินเฟ้อได้บรรเทาลงไป ทำให้แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของธนาคารในประเทศไทย น่าจะมีการปรับตัวลงไปในอนาคต ในส่วนของตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ตังเป้าเอาไว้ที่ 4.5-5.5 นั้นคาดว่าสถานการณ์ในปัจจุบันจะมีผลกระทบสำคัญต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และคาดว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้น่าจะขยายตัวได้ประมาณ 4.7-4.8 เท่านั้นแต่หากสถานการณ์มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ยังเชื่อว่าจะมีผลกระทบในระยะสั้นเท่านั้น และจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของไทยในช่วงต่อไป คือ จะทำให้เศรษฐกิจสามารถขับเคลื่อนได้ ภาคเอกชนก็จะมีการขยายตัวในการลงทุนได้อีก ส่วนที่คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ระบุจะดำเนินการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว ก็จะยิ่งช่วยสร้างความเชื่อมั่นต่อระบบเศรษฐกิจได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นสำหรับภาคเอกชนในการที่จะวางแผนการลงทุนต่อไป เพราะการลงทุนต้องการใช้เม็ดเงิน หากไม่มีความชัดเจนก็จะทำให้บรรยากาศในการลงทุนในค่อยดี ดังนั้น หากเกิดความชัดเจนมากเท่าไหร่ยิ่งดีเท่านั้น และทีมรัฐมนตรีที่รับผิดชอบนโยบายด้านเศรษฐกิจที่จะออกมาได้รับการยอมรับเท่าไหร่ ก็จะช่วยให้บรรยากาศในการลงทุนดีเท่านั้น และจะมีส่วนช่วยให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาคเอกชนในช่วงที่เหลือในปีนี้น่าจะดีขึ้น
นายชวนะยังกล่าวต่อไปว่า การที่มีรัฐบาลที่เข้ามารับผิดชอบโดยตรงจะทำให้แนวนโยบายทางด้านการคลัง โดยเฉพาะงบประมาณแผ่นดิน ปี 2550 ที่จะเริ่มวันที่ 1 ตุลาคมนี้ จะสามารถดำเนินการได้เร็วขึ้น ซึ่งก็จะมีส่วนช่วยขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจได้อีกทางหนึ่ง โดยในเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่เศรษฐกิจภูมิภาคอันดามัน เหลือเวลาเพียงไม่กี่เดือนฤดูกาลท่องเที่ยวก็จะกลับมาเปิดฤดูกาลอีกครั้ง จึงอยากให้ คปค.เร่งสรรหานายกรัฐมนตีและคณะรัฐมนตรีชุดใหม่โดยเร็ว และกำหนดแนวทางนโยบาย ในการดำเนินเศรษฐกิจในทุกๆด้าน ในส่วนของการท่องเที่ยวรัฐบาลชุดใหม่จะต้องเร่งสร้างภาพพจน์ที่ดีและสร้างความเชื่อมั่นกับให้กับนักท่องเที่ยวว่า ประเทศไทยมีความปลอดภัยเพียงพอที่จะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยว และนักท่องเที่ยวจะได้รับการดูแลความปลอดภัยอย่างดี จากรัฐบาลชุดใหม่ที่จะเกิดขึ้น อนึ่งหลังจากการปฏิรูปทางการเสร็จสิ้นตามที่ คปค.ได้ให้สัญญาไว้แล้วนั้น เชื่อว่าการปฏิรูปการเมืองไปในทิศทางที่ดีขึ้นซึ่งจะทำให้สังคมตื้นตัวมากขึ้น และนักการเมืองที่จะเข้ามาบริหารประเทศก็จะต้องเป็นนักการเมืองที่มีคุณธรรม และจริยธรรมอย่างชัดเจนและเป็นที่ยอมรับจากประชาชน และไม่อยากเห็นการสืบทอดอำนาจทางการเมืองเหมือนการปฏิวัติหลายๆครั้งที่ผ่านมาโดยคณะที่เข้ามายังคงดำเนินกิจการทางการเมืองต่อไป มองว่าเรื่องนี้ไม่น่าจะเกิดขึ้นกับการปฏิรูปทางการเมืองในครั้งนี้ และเร่งคืนอำนาจสู่ประชาชนโดยเร็ว รวมทั้งการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และฉบับชั่วคราวที่จะบังคับใช้ คปค.ต้องฟังเสียงประชาชนและยอมรับฟังความคิดเห็นกับทุกภาคส่วนโดยมีตัวแทนจากภาคต่างเข้าร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และฉบับชั่วคราวที่จะบังคับใช้ จะต้องเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย และให้เกิดการเลือกตั้งที่ประชาชนมีอำนาจสูงสุดกลับคืนมาโดยเร็วที่สุด นายชวนะกล่าว

รองหอฯแนะสสร.เร่งทำความเข้าใจประชาชน ติงม็อบอย่าป่วนประชาพิจารณ์ วอนเลือกตั้งตามกรอบเวลาที่เหมาะสม


หลังจากมีการประชุม สสร.นัดสุดท้ายเพื่อลงมติรับหรือไม่รับ ร่างรธน.ปี 50 ซึ่งมติเป็นตามความคาดหมาย ซึ่งมีผู้มีสิทธิลงมติ 100 คน และมีผู้เข้าร่วมประชุมครั้งนี้ 98 คน ลงมติรับร่าง รธน.อย่างเป็นเอกฉันท์ 98 เสียงส่วนอีก 2 เสียงไม่อยู่ในที่ประชุม ท่ามกลางกระแสสังคมที่สับสน จากหลายประเด็นที่ ม็อบ PTV เคลื่อนไหวคัดค้านร่าง รธน.ฉบับนี้ รวมไปถึงองค์กรพระสงฆ์ที่อาจจะรวมตัวเคลื่อนไหวคว่ำบาตร รธน.ฉบับนี้ เพราะไม่พอใจที่ สสร.ไม่บรรจุศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ
ทางด้านนายชวนะ เกียรติชวนะเสวี นักศึกษาปริญญาโท ธรรมศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ สาขาการเมืองการปกครอง ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับกรณีนี้ว่า การเคลื่อนไหวของกลุ่มม็อบต่างในเวลานี้ ถือว่ายังตกเป็นประเด็นทางสังคมที่มีส่วนกระทบต่อกระบวนการทำประชาพิจารณ์อย่างแน่นอน ในส่วนการเคลื่อนไหวนั้นถ้ามองกันอย่างละเอียดก็จะทราบเป็นไปเพราะเหตุผลใด ส่วนการเคลื่อนไหวของกลุ่มม็อบที่มีการประกาศว่าจะรณรงค์ให้ประชาชนลงมติไม่รับร่าง รธน.ฉบับนี้ วึ่งแน่นอนว่าการเคลื่อนไหวครั้งนี้น่าจะมีผลต่อการลงประชามติของประชาชนที่ขาดความเข้าใจอย่างแน่นอน
นายชวนะ ยังกล่าวต่อไปว่า การเคลื่อนไหวของม็อบยังใช้กลวิธีทาง จิตวิทยาโดยการใช้สื่อให้เป็นประโยชน์และใช้ประเด็นตอบโต้ทางการเมืองโดยตลอด ทั้งยังชี้ให้ประชาชนเห็นในช่องโว่ของร่าง รธน.ฉบับนี้ในหลายมาตรา ซึ่งหากประชาชนขาดความใจอย่างถ่องแท้แล้วเชื่อว่าจะมีผลต่อการตัดสินใจเช่นกัน จึงอยากเห็น สสร.ใช้เวลาที่เหลืออยู่ เร่งทำความเข้าใจประชาชนในหลายแง่มุมที่ยังตกเป็นประเด็นในสังคมอยู่ในขณะนี้ ถึงที่มาที่ไปต่างๆและความมีเอกภาพในการยกร่างรธน.ฉบับนี้ เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลทั้ง 2 ด้าน และเหตุผลข้อเท็จจริงต่างๆ ทั้งนี้เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการตัดสินใจลงประชามติรับร่าง รธน.ต่อไป และยังมองว่าการเคลื่อนไหวใดๆในเวลานี้ของม็อบกลุ่มต่างๆ ไม่ส่งผลดีต่อประเทศชาติบ้านเมือง ที่ต่อการคลี่คลายสถานการณ์ให้เป็นไปในทางที่ดีขึ้น ถึงแม้ว่าการเลือกตั้งจะไม่ใช้ทางออกของปัญหาทั้งหมด แต่ก็ยังดีกว่าการนำพาประเทศไปสู่ยุคมืดอีกครั้งทุกฝ่ายคงไม่อยากจะเห็นการใช้กำลัง และเกิดความวุ่นวายขึ้นเหมือนอย่างอดีตที่ผ่านมา วันนี้สิ่งเดียวที่จะนำพาประเทศไปสู่การก้าวเดินอย่างเสถียรภาพ คือความรัก สามัคคี ของคนในชาติบ้านเมือง ความคิดเห็นต่างๆที่ถูกมองว่าแตกต่างกัน แต่ทุกฝ่ายต่างมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน ทังนี้อยากเห็นความปรองดอง สมานฉันท์ เพื่อร่วมกันพัฒนาประเทศ นำไปสู่การเลือกตั้ง คืนอำนาจสู่ประชาชน ให้ประชาธิปไตยของเรากลับมาเบ่งบานอีกครั้งหนึ่ง ประชาชนเท่านั้นคือผู้กำหนดอนาคตของเราทุก วันนี้เราไม่เพียงหันมองตัวเราเอง แต่เรากำลังถูกจับจ้องจากสายตาคนทั่วโลก ผมเชื่อว่าการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยจะทำให้ขบวนการต่างๆดำเนินไปตามขั้นตอนที่เหมาะสม และควรจะเป็น สำหรับการกำหนดวันนี้เลือกตั้งนั้นเชื่อว่าหลังจากมีการทำประชาพิจารณ์แล้วน่าจะมีคำตอบที่ดีกว่าปัจจุบันนี้ เพราะโดยส่วนตัวมองว่าไม่ควรที่จะเร่งให้เร็วเกินไปและไม่ควรให้ช้าเกินไป ทั้งนี้การกำหนดวันเลือกตั้ง จะต้องเป็นไปตาม รธน.กำหนด และเป็นเวลาที่เหมาะสมที่สุดนายชวนะกล่าว

รองหอฯแนะ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เร่งคลายความเคลือบแคลง ลั่นสังคมจับตา คปค. อย่าสืบทอดอำนาจ


หลังจากมีการทูลเกล้าแต่งตั้ง สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติและเปิดประชุมสภาฯไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วนั้น ทั้งนี้ยังมีการลงคะแนนสรรหาประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งการสรรหาก็เป็นไปตามความคาดหมาย โดยนายมีชัย ฤชุพันธ์ ได้รับคะแนนสนับสนุนสูงสุดและขึ้นนั่งเก้าอี้ประธานสภานิติบัญญัติ หลังได้รับการสนับสนุนยังคงมีกระแสข่าว การล็อบบี้ตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการชุดต่างๆออกมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเก้าอี้ประธานสภานิติฯด้วย
สำหรับเรื่องนี้ นายชวนะ เกียรติชวนะเสวี รองประธานหอการค้าจังหวัดภูเก็ต ได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับกรณีนี้ว่า สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นสภาที่จะทำหน้าที่เป็นทั้งผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และยังเป็นตัวแทนจากภาคประชาชนและส่วนต่างๆ ที่ได้รับการคัดสรรจากบุคคลที่มีความสามารถจากหลายสาขาอาชีพ เข้ามาเพื่อปฏิรูปการเมือให้ก้าวไปสู่ทิศทางที่เหมาะสม และหาแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์อย่างที่เคยผ่านมา ซึ่งจากการติดตามข่าวในเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง ได้เกิดกระแสข่าว ออกมาหลายอย่าง ทำให้สังคมและประชาชนเกิดความเคลือบแคลงสงสัยในการทำหน้าที่ของสภาฯ ซึ่งอยากให้ประธานสภาคนใหม่ ที่ได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกผู้ทรงเกียรติ เร่งสร้างความกระจ่าง และคลายความเคลือบแคลงสงสัยของสังคมที่เกิด ทั้งทำหน้าของสภาฯอย่างสมบูรณ์ เร่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว เพื่อคืนอำนาจสู่มือประชาชนโดยเร็วที่สุด ตามแนวทางของระบอบประชาธิปไตย
ทั้งนี้ยังเชื่อมั่นการทำหน้าที่ของ สมาชิกสภานิติฯว่าจะสามารถทำหน้าที่ได้อย่างดี และเชื่อมั่นว่าคปค.จะรักษาสัญญาที่เคยให้ไว้กับประชาชน หลังเข้ายึดอำนาจการปกครองเบ็ดเสร็จจากรัฐบาลชุดก่อน ทั้งนี้อยากเห็นแนวทางการปฏิรูปการเมืองที่เป็นรูปธรรมและประชาชนสามารถรับรู้ข้อมูล ความเคลื่อนไหวของ คปค.อย่างมีบันทัดฐาน ที่จะสามารถนำไปสู่การปฏิรูปการเมืองอย่างเป็นระบบ นายชวนะกล่าว

รองหอฯแนะรัฐฯเร่งสร้างความชัดเจนปฏิรูปการเมือง อย่างสร้างเงือนไขผูกพัน หวั่นนักลงทุนถอย


หลังก่อการรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร โดยให้เหตุผลหลักอันเนื่องมาจาก การทุจริตคอรัปชั่น และความเคลือบสงสัยในตัวผู้นำ รวมไปการคลอบงำองค์กรอิสระ และความแตกแยกในชาติออกเป็นหลายฝักหลายฝ่ายอย่างชัดเจน
ก่อเกิดรัฐบาลชุดปฏิรูปการเมือง นำโดย พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ซึ่งถูกมองว่าเป็นม่านนอกของ รัฐบาล คมช.ที่มีพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีต ผบ.ทบ. สงผลให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัยตามมาอย่างต่อเนื่อง จนอาจส่งผลให้เกิดการชุมนุมเคลื่อนไหวคัดค้านการปกครองของรัฐบาลในชุดปัจจุบัน
จากกรณีนี้นายชวนะ เกียรติชวนะเสวี รองประธานหอการค้าจ.ภุเก็ต กล่าวถึงกรณีนี้ว่า การที่รัฐบาลชุดนี้เข้ามาบริหารประเทศชาติ ณ เวลานี้ ต้องแยกออกเป็นกรณีๆไป กล่าวคือ การได้มาซึ่งอำนาจจากการก่อรัฐประหารหรือยึดอำนาจจากรัฐบาลชุดก่อน ซึ่งถูกมองว่าเป็นการทำลายระบอบการปกครอง ในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งคนส่วนใหญ่จะตั้งคำถามว่า มีความจำเป็นมากน้อยเพียงใดในการทำรัฐประหาร ที่ไม่ได้บ่งบอกว่าเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย จากตรงนี้รัฐบาลชุดนี้ได้ให้เหตุผลในการทำรัฐประหารไว้ 4 ข้อหลัก ไม่ว่าจะเป็นการทุจริตคอรัปชั่น ความเคลือบแคลงสงสัยในตัวผู้นำ และความแตกแยกของคนในชาติ รวมทั้งการเข้าไปรุกล่ำองค์กรอิสระ และคลอบงำสื่อ จากหลายสาเหตุที่ภาคประชาชนและสภาฯ ไร้อำนาจการถ่วงดุลและตรวจสอบ และรัฐบาลชุดนี้ได้ให้สัญญากับประชาชนทั้งประเทศในการเข้ามาปฏิรูปการเมืองครั้งสำคัญ ซึ่งจะนำไปสู่การเลือกตั้งที่ทุกฝ่ายให้การยอมรับ ตามระบอบประชาธิปไตยในอนาคตอันใกล้ ในเวลา 1 ปี มองว่าในระยะเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลชุดนี้ยังไม่สามารถที่จะทำให้เหตุผลทั้ง 4 ข้อที่ก่อการรัฐประหารขึ้นมานั้นชัดเจน จากเหตุผลตรงนี้เอง นำมาซึ่งการตอบโต้ที่รุนแรงเช่นเดียวกันเกิดขึ้นในฝั่งของประชาชนที่อยากเห็นการการกลับคืนอำนาจประชาธิปไตยโดยเร็วลุกขึ้นขึ้นมากดดันรัฐบาลและ คมช.ที่กำลังควบคุมการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง นั้นคือการเคลื่อนไหวขององค์กรต่างๆรวมถึงภาคประชาชน ที่อาจจะได้รับแรงผลักดันจากกลุ่มผู้ขาดผลประโยชน์ และคลื่นใต้น้ำจากรัฐบาลชุดก่อนหรือเกิดจากภาคประชาชนเห็นความไม่ชัดเจนต่อการเข้ามายึดอำนาจของรัฐบาลชุด คมช.และไม่มีความไว้วางในในการปฏิรูปทางการเมืองของรัฐบาลชุดนี้ ซึ่งจะนำไปสู่วิกฤติทางการเมืองขึ้นได้ในอนาคต ทางออกในการแก้วิกฤติการเมืองครั้งนี้จึงไม่เพียงจะแก้ไขบทเฉพาะกาล ของรัฐธรรมนูญในฉบับหนึ่งฉบับใดเท่านั้น แต่จะต้องแก้ไขในแต่ละปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว และต้องมีบทสรุปที่ชัดเจนและคนส่วนใหญ่ให้การยอมรับ รวมทั้ง 4 เหตุผลหลักในการทำรัฐประหารจะต้องมีความชัดเจน และประชาชนในชาติต่างให้การยอมรับ ทั้งนี้มองว่าการทำงานของรัฐบาลยังมีข้อแม้และมีเงือนไขรวมถึงระยะเวลาที่จำกัดในการทำการปฏิรูปการเมือง จึงอยากให้รัฐบาลเร่งหาบทสรุป และสร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นในชาติโดยเร็ว เพื่อไม่ให้ปัญหาทุกอย่างปานปลาย เร่งปลดประกาศกฎอัยการศึก ซึ่งเท่ากับเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน ซึ่งจะไม่ส่งผลดีต่อการทำงานของรัฐบาลชุดนี้ ทางออกที่สำคัญคือการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ภาคประชาชนมีส่วนสำคัญในการยกร่าง และมีส่วนร่วมมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ทั้งนี้ไม่อยากเห็นการผูกขาดอำนาจเหมือนอดีตผ่านมา และมีการสืบทอดอำนาจต่อหลังรัฐบาลชุดปัจจุบันหมดพันธสัญญากับประชาชน ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่าต่างชาติและนานาประเทศกำลังจับตามองประเทศไทยว่าการเมืองจะมีความมั่นคงเพียงไรและจะดำเนินต่อไปอย่างไรในอนาคต ซึ่งจะมีผลต่อการนำเงินตราต่างประเทศเข้ามาลงทุน รวมถึงการนำเข้าส่งออกที่นักลงทุนกำลังติดตามสถานการณ์ทางการเมือง ซึ่งหากการเมืองไทยในวันนี้ยังไม่มีเสถียรภาพที่ดี นักลงทุนต่างก็จะขาดความเชื่อมั่นในการเข้ามาลงทุนในประเทศ และจะส่งผลกระทบกับทุกภาคส่วนในทันที ทั้งนี้หากนักลงทุนปรับฐานการผลิตรวมถึงโยกย้ายเงินลงทุนไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีความมั่นคงทางการเมืองมากกว่า ก็ยิ่งจะไม่ส่งผลดีกับสภาวะเศรษฐกิจของไทย เพราะจะเห็นได้ว่าประเทศเพื่อนบ้านของเราในเวลานี้มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างจะรวดเร็ว และมีการขยายตัวของ GDP ในอัตราที่ก้าวกระโดด จึงอยากเห็นความชัดเจนในการปฏิรูปการเมืองโดยเร็วและการเมืองในอนาคตจะต้องเป็นการเมืองที่มีเสถียรภาพและมีความมั่นคง มากกว่าที่ผ่านมา
ซึ่งโดยส่วนตัวมองว่าการก่อรัฐประหารเป็นการทำลายประชาธิปไตย แต่สิ่งที่สำคัญอีกขั้นตอนหนึ่งคือการกอบกู้ประชาธิปไตย และรักษาความเป็นประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นกับสังคมการเมืองในประเทศของเรา พัฒนาเมล็ดพันธ์ทางการเมืองที่มีคุณภาพ เข้ามาสานต่อประชาธิปไตยไปสู่วันข้างหน้าที่ดีกว่า และเหนือสิ่งอื่นใด ประชาชนคือแกนหลักสำคัญในการขับเคลื่อนประชาธิปไตย เพื่อประเทศชาติที่นานาประเทศให้การยอม และเชื่อมั่นในเสถียรภาพทุกด้าน ทั้งนี้หากการเมืองอ่อนแอ ประเทศชาติจะอ่อนแอตามไปด้วย ซึ่งจะส่งผลกระทบกับทุกด้านการพัฒนาก็จะชะลอตัว อีกทั้งในประเทศเพื่อนบ้านคู่แข่งที่สำคัญกำลังพัฒนาและยกระดับความน่าเชื่อถือและเป็นประเทศที่การเมืองมีเสถียรภาพมากว่า ตรงนี้จะทำให้ประเทศเราเสียเปรียบ หากการเมืองในปัจจุบันยังย่ำอยู่กับที่และไม่มีความมั่นคงเพียงพอ อยากเห็นการกลับคืนสู่ประชาธิปไตยที่ภาคประชาชนเป็นผู้ขับเคลื่อน มีการเลือกตั้งที่เป็นธรรมตามระบอบ และการได้มาซึ่งตัวผู้นำที่ทุกภาคส่วนให้การยอมรับและเป็นนายกในระบบการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ที่อำนาจสูงสุดอยู่ในมือของประชาชน นายชวนะกล่าว

นศ.ป.โท ธรรมศาสตร์ แนะสสร.ทำความเข้าใจกติกาประชาธิปไตย ลั่น สว.สรรหาวิกฤติหนัก แนะคืนอำนาจสู่ประชาชน


หลังจากคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จในร่างแรกผ่านพ้นไปแล้ว ซึ่งอยู่ในระหว่างขั้นตอนที่ให้ 13 องค์กรรวมกันพิจารณาก่อนนำกลับเข้าสู่ขั้นตอนการทำประชาพิจารณ์และทบทวนแก้ไขในช่วงต้นเดือนกันยายนที่จะถึง
ทางด้าน นายชวนะ เกียรติชวนะเสวี นักศึกษาป.โทธรรมศาสตร์ออกโรง พูดถึงในหลายประเด็นโดยเฉพาะเรื่องของการสรรหา สว. และการลดเก้าอี้ สส.เหลือเพียง 320 ที่นั่งและให้มี สส.สัดส่วนอีก 80 โดยนายชวนะกล่าวว่า ได้เฝ้าติดตามการทำงานของคณะกรรมการ ยกร่างรัฐธรรมนูญมาโดยตลอดและพอจะทราบถึงเหตุผลที่ คณะกรรมการเห็นว่า สว.ควรมาจากการสรรหา เพราะจากที่ผ่านมา มีการแทรกแซงการทำหน้าที่ ของสมาชิกวุฒิสภา และความไม่เป็นกลางทางการเมือง รวมถึงผลประโยชน์แอบแฝงจนทำให้เกิดวิกฤติทางการเมืองมาถึงปัจจุบัน โดยส่วนตัวมีความเห็นว่าการตีโจทย์ในการยกร่างรัฐธรรมนูญปี 50 กำลังผิดทาง เพราะวิกฤติการเมืองเกิดขึ้นจากตัวบุคคลไม่ใช้รัฐธรรมนูญ และเห็นว่ารัฐธรรมนูญปี 40 เป็นรัฐธรรมนูญที่มีความเหมาะสมและสมบูรณ์แบบมากที่สุด ประเทศไทยเป็นประเทศประชาธิปไตย มาตั้งแต่ปี 2475 ซึ่งได้จัดการเลือกตั้งที่ได้ตัวแทนมาจากภาคประชาชน ประชาชนคือผู้ตัดสินใจเลือกทิศทางการทำงานของคณะผู้บริหารประเทศ เพราะฉะนั้นนั้นคือจุดเริ่มต้น เราผ่านการเกิดวิกฤติบ้านเมืองมาหลายยุคหลายสมัย เปลี่ยนรัฐบาลมาหลายครั้งหลายครา แต่ทุกครั้งประชาชนจะเป็นผู้กำหนดทิศทางของประเทศ จะเป็นผู้เลือกตัวแทนที่จะเข้ามาบริหารบ้านเมือง เพราะฉะนั้นประเด็นหลักสำคัญของประชาธิปไตยต้องอยู่ที่ประชาชนเป็นหลัก ด้วยเหตุนี้จึงมีความเห็นว่าการให้อำนาจกับกลุ่มบุคคลไม่ว่าจะเป็นกลุ่มใดหรือหน่วยงานใด เลือกสรรตัวบุคคลเข้ามาดำรงตำแหน่งในภาคส่วนของการเมืองที่เกี่ยวข้องและมีผลกับประเทศ จึงไม่ใช้ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์และประเทศที่พัฒนาแล้วเลือกใช่ ซึ่งหาก สสร.มีมติให้ สว.มาจากการสรรหาเชื่อว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะไม่เป็นที่ยอมรับของภาคประชาชน และอาจเกิดวิกฤติทางการเมืองและความรุนแรงเกิดขึ้น จึงอยากให้มีการทบทวนแก้ไขในส่วนนี้ และให้ สสร.เข้าใจกติกาของรัฐธรรมนูญ เข้าใจถึงความสำคัญของรัฐธรรมนูญ และรัฐธรรมนูญนั้นไม่ใช่กฎหมาย จึงควรคืนอำนาจการตัดสินให้กับประชาชน
ซึ่งการที่ประชาชนคือผู้ตัดสินใจเลือกตัวแทนเข้าไปทำงานการเมืองนั้น ไม่ว่าผู้นั้นจะทำงานได้ดีหรือไม่ ไม่ใช้ปัจจัยสำคัญเพราะนั้นคือวิวัฒนาการทางการเมือง ซึ่งหากพี่น้องประชาชนเห็นว่าผู้ที่เข้าไปทำงานและเลือกตั้งเข้าไป ไม่สามารถทำงานให้สอดคล้องกับภาคส่วนและพี่น้องประชาชนได้ ประชาชนอีกนั้นแหละคือผู้ตัดสินใจ และนั้นคือประชาธิปไตยซึ่งเป็นไปตามระบอบ ผมจึงเห็นว่าการสรรหา สว.ไม่เหมาะสม และสว.ควรมาจากการเลือกตั้งเท่านั้น รวมทั้งเปิดโอกาสให้ สว.หาเสียงได้ การแนะนำตัวไม่มีเหตุผลและปัจจัยเพียงพอที่ประชาชนจะทำความกับใจกับผู้สมัครได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์
ในส่วนของ การลดจำนวน สส.นั้นมองว่าประเด็นนี้ไม่ควรเป็นปัจจัยสำคัญในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และสส.สัดส่วนมองว่ายังไม่สามารถอธิบายถึงบทบาทหน้าที่ได้และความจำเป็นที่จะมีหรือไม่มีได้ จึงมองว่าไม่ใช่ปัจจัยสำคัญ

นศ.โท ธรรมศาสตร์ สวนกลับสสร.รัฐธรรมนูญใหม่ยึดหลัก 40 วอนคืนอำนาจสู่มือประชาชน ลั่น สว.สรรหาไม่เหมาะสม แนะ รัฐธรรมนูญโดยประชาชนเพื่อประชาชน


หลังจากที่มีการประชุม สสร. เพื่อวางแนวทางการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยเนื้อหาว่าด้วย 3 กรอบหลักคือ กรอบสิทธิและเสรีภาพ สถาบันการเมือง และ องค์กรตรวจสอบอิสระและศาล ซึ่งมีนายนรนิติ เศรษฐบุตร ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ เป็นประธานในที่ประชุม ในส่วนของการวางกรอบในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ทางด้าน นายชวนะ เกียรติชวนะเสวี นักศึกษาปริญญาโท ธรรมศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ สาขาการเมืองการปกครอง ให้สัมภาษณ์หลังเข้าร่วมรับฟังการอภิปราย กรอบรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ปี 50 ว่าหลังเข้าร่วมรับฟังการอภิปรายยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 50 โดยความคิดเห็นในส่วนตัวแล้ว ยังมีความเห็นว่า รัฐธรรมนูญปี 40 เป็นรัฐธรรมนูญที่เหมาะสมที่สุดและเป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชนโดยแท้จริง ซึ่งทุกขั้นตอนของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งหากการทำประชาพิจารณ์ไม่ผ่านความเห็นชอบของประชาชน ก็ควรที่จะกลับมาใช้รัฐธรรมนูญปี 40 และแก้ไขในบางมาตราเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์นั้นได้
ในส่วนสำคัญเห็นว่า รัฐฯมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอธิบายทุกขั้นตอนให้กับประชาชนรับทราบ รับรู้ข้อมูลทุกขั้นตอน ไม่ใช้ให้ประชาชนแค่ร่วมร่างรัฐธรรมนูญนั้น แต่ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ในทุกขั้นตอน ไม่ใช่แค่ร่วมอย่างที่ผ่านมา และประชาชนคือผู้ตั้งโจทให้กับรัฐฯหาคำตอบ ไม่ใช้รัฐเป็นผู้ตั้งโจทแล้วโยนให้ให้ประชาชนหาคำตอบเอาเอง ซึ่งก็ไม่ทราบว่าคำตอบนั้นจะออกมาในทางใด รัฐฯมีอำนาจเต็มที่ในการวางกรอบบริหารประเทศ ซึ่งที่ผ่านมารัฐไม่ค่อยสนใจในเสียงของประชาชน ประชาชนไม่ค่อยมีส่วนร่วม เพราะประชาชนไม่เข้าใจบทบาทและหน้าที่ ว่าการเลือกตั้งมีความสำคัญอย่างไร มีผลกระทบต่อบ้านเมืองมากน้อยเพียงใดหากไม่ไปใช่สิทธิของตนเอง สส.มีหน้าที่อะไร สว.มีความสำคัญอย่างไร นายกฯมีบทบาทหน้าที่ตรงไหนบ้าง สิ่งสำคัญต่างๆเหล่านี้คือหน้าที่ของรัฐฯ ที่จะต้องเติมเต็มและสร้างแนวทางให้ประชาชนเกิดการเรียนรู้ อธิบายเหตุผลหลักการทุกขั้นทุกตอน ให้ประชาชนตระหนักในบทบาทและหน้าที่ของตัวเอง ปลูกจิตสำนึกในการเป็นบุคลากรของชาติ ในการทำหน้าที่เป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย แกนหลักสำคัญของประชาธิปไตยอยู่ที่ประชาชน หากประชาชนเข้าใจบทบาทและหน้าที่ของตัวเอง หากประชาชนได้ใช้สิทธิของตนเองได้อย่างครบถ้วน เชื่อมั่นอย่างยิ่งว่าประชาธิปไตยในบ้านเมืองของเราจะเดินหน้าต่อไป
ในส่วนของกรอบทั้ง 3 กรอบหลักนั้นมองว่าในส่วนนี้เป็นแค่ปัจจัยย่อยๆในระบอบประชาธิปไตยมากกว่า การที่รัฐฯจะกำหนดรัฐธรรมนูญออกมาอย่างไรไม่ใช่ส่วนสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นจะลดจำนวน ส.ส.หรือการแต่งตั้ง สว. ไม่ใช่ปัจจัยหลัก หลักการสำคัญคือรัฐฯจะทำอย่างไรให้ประชาชนเข้าใจในรัฐธรรมนูญ เข้าใจในบทบาทหน้าที่ของตัวเอง เข้าใจหลักการในระบอบประชาธิปไตย และไปใช้สิทธิในการเลือกตั้ง และให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยบริสุทธิ์ยุติธรรมเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ประชาชนตระหนักในความสำคัญในการใช้สิทธิของตนเองชี้นำอนาคตของชาติ ซึ่งนี้เป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งที่รัฐบาลจะต้องทำความเข้าใจและใส่ใจให้มากขึ้น เข้าใจประชาชนให้มากขึ้น โดยส่วนตัวเห็นว่า วันนี้ประชาธิปไตยกำลังถูกคุกคามกำลังถูกทำลาย จุดเริ่มต้นของประชาธิปไตยเมื่อปี 2475 เป็นมาอย่างไรเราคงต้องย้อนกลับไปดูและเรียนรู้กันใหม่อีกครั้ง เพราะประชาธิปไตยเกิดขึ้นเองตามแนวทางตามระบบ ในส่วนของการสรรหา สว. คิดว่า เปรียบเสมือนนักเรียนหรือเด็กทุกคนเรียนรู้ประชาธิปไตยตั้งแต่แรกเริ่มเข้าเรียน คือการเลือกหัวหน้าชั้นด้วยตนเอง ไม่ว่าจะเลือกคนดีหรือไหมนั้นไม่สำคัญ แต่ระบอบประชาธิปไตยเกิดขึ้นและกำลังพัฒนาไปด้วยตัวเอง ตามแนวทางที่ถูกต้อง เพราะวันนั้นอาจารย์เป็นผู้มอบอำนาจสู่นักเรียนให้เลือกหัวหน้าชั้นกันเอง ผลออกมาอย่างไรก็ย่อมเป็นที่ยอมรับ แต่วันนี้กลับกัน ครูประจำชั้นกลับเดินเข้าบอกว่า ที่เลือกหัวหน้าชั้นกันเองนั้นไม่ถูกต้องไม่ดี ต่อไปนี้ครูจะเป็นผู้กำหนดและเลือกหัวหน้าชั้นเอง แล้วต่อไปประชาธิปไตยในชั้นเรียนก็จะถูกทำลาย เพราะไม่ว่าใครจะเป็นหัวหน้าชั้น ครูก็คือผู้มีอำนาจสิทธิขาดอยู่ดี หัวหน้าชั้นก็จะไม่ให้ความสนใจเพื่อร่วมชั้น เด็กขาดความเชื่อมั่น อย่างนี้เป็นต้น แล้ววันนั้นที่ผ่านๆมา ไม่ว่าจะเป็น 14 ตุลา 17 พฤษภาทมิฬ เราเรียกร้องเพื่ออะไร การเสียเลือดเสียเนื้อของคนเดือนตุลาเพื่ออะไร ไม่ใช่ประชาธิปไตยหรอกหรือ แล้วเวลานี้เรากำลังถามหาประชาธิปไตยไม่ใช่หรือ เรากำลังจะพัฒนาไปข้างหน้าให้มากแค่ไหน ก็ยิ่งต้องย้อนกลับไปดูอดีตให้มากยิ่งขึ้นเท่านั้น เปรียบเหมือนกับการยิงธนูยิงดึงกลับมากเท่าไหร่ ก็จะยิงไปข้างหน้าได้ไกลมากยิ่งขึ้นเช่นกัน นั้นหมายความว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ประชาชนจะต้องมีบทบาทสำคัญและมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน ต้องทำประชาพิจารณ์เพื่อฟังเสียงประชาชน เพราะประชาชนคือผู้กำหนดทิศทางของรัฐธรรมนูญ ฉะนั้นหลักและใจความสำคัญคือประชาชนต้องเป็นผู้เลือก จึงเห็นได้ชัดเจนว่า สว.ต้องมาจากการเลือกตั้ง เพราะหาก สว.มาจากการสรรหา ประชาธิปไตยก็คงไม่เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์แน่นอน ในส่วนของจำนวน สส.หรือสว.จะเพิ่มหรือลด ขึ้นอยู่กับความเหมาะแต่ต้องถามประชาชนเช่นกัน
สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งคือ รัฐฯต้องผลักดันให้ประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลต่างๆได้ง่ายขึ้น ไม่ใช่แค่เพียงร่างหลักการไว้ แต่ไม่สามารถปฏิบัติได้จริง จะต้องเปิดช่องทางให้ประชาชนมีส่วนร่วมในทุกขั้นทุกตอน ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ประชาชนสามารถถอดถอนบุคคลนั้นๆทางการเมืองที่ประพฤติปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบได้ง่ายขึ้น ไม่ให้เป็นอย่างที่ผ่านมา เช่น 50,000 รายชื่อสามารถถอดถอนนายกฯได้ แต่ทำเข้าจริงไม่สามารถทำได้อย่างนี้เป็นต้น จำเป็นต้องมีองค์กรเข้ามาทำงานร่วมกับประชาชน ให้ความสำคัญกับประชาชนเป็นหลัก รัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงจะสมบูรณ์และเป็นที่ยอมรับ สสร.มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าใจบทบาทของตัวเอง และเข้าใจในบทบาทหน้าของประชาชน เคารพหลักการสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน และร่างรัฐธรรมนูญตามความเห็นชอบของคนส่วนรวม รัฐธรรมนูญไม่ได้ร่างขึ้นมาเพียงเพื่อใช้กับคนกลุ่มหนึ่งกลุ่ม และไม่ได้ร่างและบัญญัติให้คนกลุ่มใดได้รับผลประโยชน์ แต่รัฐธรรมนูญเป็นของเราทุกคน รัฐธรรมนูญโดยประชาชนเพื่อประชาชน นายชวนะกล่าว